Kaizen “ไคเซ็น” ปรัชญาการพัฒนาธุรกิจจากญี่ปุ่น
ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการทำธุรกิจที่ผู้บริหารจะมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ให้ธุรกิจเกิดความเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบยั่งยืน แต่ในการดำเนินธุรกิจให้ไปถึงเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จตั้งแรกเริ่มต้น โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันที่สูงและมีปัญหารอบด้าน
ในระหว่างดำเนินธุรกิจย่อมเจอปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กจุกจิก ไปจนเรื่องใหญ่เข้ามาอยู่เสมอ และบ่อยครั้งที่เราก็ไม่ได้มีเงินลงทุนตั้งต้นที่สูงในการเปิดธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม แนวคิด “ไคเซ็น” (Kaizen) จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ไคเซ็น (Kaizen) คือ การปรับปรุงธุรกิจทีละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ธุรกิจดีขึ้น เติบโตขึ้น โดยการสังเกต การเก็บข้อมูล และพนักงานหน้างาน เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานสายปฏิบัติการ พนักงานต้อนรับ มีส่วนสำคัญต่อการทำไคเซ็นอย่างมาก เพราะเป็นกลุ่มคนที่เห็นปัญหาหน้างาน และสัมผัสกับ Feedback จากลูกค้าโดยตรง
ยกตัวอย่างร้านก๋วยเตี๋ยวที่แรกเริ่มในการเปิดร้าน ยังมีเงินลงทุนไม่สูง ลูกค้ายังไม่เยอะ ก็จะเน้นที่รสชาติของอาหารเป็นหลัก อาศัยการจำเมนู มีโต๊ะเก้าอี้อยู่ไม่กี่ตัว เมื่อลูกค้าเริ่มติดใจในรสชาติ ก็กลับมาซื้อซ้ำ บอกต่อ ลูกค้าเยอะขึ้น ทางร้านก็มีการปรับวิธีการรับ Order เป็นการจดใส่กระดาษฉีก และเมื่อสังเกตว่าลูกค้าบางคนมีความต้องการแตกต่างกัน เช่น ระดับความเผ็ด เส้นก๋วยเตี๋ยว การใส่ผักใส่ถั่วงอก ใบจดเมนูก็ถูกปรับให้เป็นการติ๊กช่องให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และเมื่อกิจการขยายก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการจดใน Tablet และส่งข้อมูลไปที่ครัวและแคชเชียร์ในที่สุด
แน่นอนว่าที่ร้านก็ไม่ได้ตัดสินใจทุ่มเงินซื้อแท็บเล็ตตั้งแต่แรก หากยังไม่ได้เริ่มทดลองเปิดร้านทีละสเต็ป และอาศัยการสังเกตฟีดแบ็คต่าง ๆ มิฉะนั้นก็จะเป็นการสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ไม่สมควรแก่จังหวะและโอกาส
ไคเซ็นมองปัญหา…เป็น “โอกาส”
เพราะเกิดปัญหา เกิดความไม่สะดวก ไม่สบายใจ ทั้งฝ่ายลูกค้าและฝ่ายธุรกิจ จึงทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนหาทางแก้ไข จุดที่ทำให้หงุดหงิด ภาษาการตลาดเรียกได้ว่าเป็น Pain Point เพราะเกิด Pain Point จึงเกิดการพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้นการจะทำให้ไคเซ็นให้ประสบความสำเร็จ เราต้อง “เปิดใจ” ให้กว้าง มองให้เห็นปัญหา รับฟังฟีดแบ็ค และหาทางพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
ไคเซ็นเป็นเรื่องระยะยาว
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการทำไคเซ็นเป็นการพัฒนาทีละเล็กทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป ตามบริบทความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นเรื่องไคเซ็นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดชั่วข้ามคืน แต่เป็นการค่อย ๆ พัฒนาให้ดีขึ้น จะเรียกว่าเป็นการทำธุรกิจระยะยาว หรือการทำธุรกิจแบบ Infinity หรือ “ไม่มีที่สิ้นสุด” เลยก็ได้ การทำไคเซ็นต้องการความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอ มากกว่าการเล่นใหญ่หรือความเร่งรีบ
หลักฐานที่แสดงให้เราเห็นว่าการทำไคเซ็นเป็นเรื่องระยะยาว ก็เห็นได้จากธุรกิจของญี่ปุ่นหลายแห่ง มีอายุเกิน 100 ปี ในขณะที่หลาย ๆ ธุรกิจต้องปิดตัวลงไปในระยะเวลาอันสั้น
สรุปแล้ว หลักการและขั้นตอนของไคเซ็น มีอะไรบ้าง?
สำหรับหลักการทำไคเซ็น ขอสรุปเป็น 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
1.ปฏิเสธสภาพปัจจุบัน (First Impression)
อันดับแรกเราจะต้องรู้สึกรับไม่ได้ ไม่โอกับสภาพปัจจุบันเสียก่อน จึงเริ่มคิดแผนที่จะพัฒนาต่อไป เช่น ธุรกิจไม่ผลิตสิ้นค้าไม่ทันและนำส่งลูกค้าล่าช้าจนลูกค้า Complain บ่อยมากจนเกินระดับที่รับได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่จะต้องปฏิเสธสภาพปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธทุกเรื่อง เอาเรื่องที่มีนัยสำคัญกับธุรกิจก็พอ
2.ลองผิดลองถูก (Trial and Error)
คนที่เพิ่งหัดตีกอล์ฟ จะคาดหวัง Hold In One ตั้งแต่ครั้งแรกที่เล่นเลยก็คงจะเป็นไปได้ยาก การทำธุรกิจก็เช่นกัน ย่อมต้องเจอปัญหาระหว่างทางอยู่เสมอ หากยังไม่เคยลองทำอะไรเลย ก็จะไม่มีทางรู้ว่าปัญหามีอยู่จริง ดังนั้นนี่จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง การลองผิดลองถูกอาจจะทำให้เสียเงินจำนวนมาก จึงต้องคิดให้ดีประกอบกับมีความ “กล้าเสี่ยง” เพราะอย่างน้อย ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะสำเร็จหรือไม่ สิ่งที่ได้แน่ ๆ ก็คือ “บทเรียนใหม่และองค์ความรู้ใหม่ ๆ” นั่นเอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการทำผิดพลาดแบบซ้ำ ๆ
3.ปรับให้เหมาะสม (Fine Tune)
สุดท้ายแล้วก็ต้องปรับทุกอย่างให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง ทุกคน ทุกฝ่าย พนักงาน และลูกค้า ต้องแฮปปี้ ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ดีว่าความเหมาะสมนั้นเป็นอย่างไรเท่ากับตัวของเจ้าของกิจการเอง
เทคโนโลยีกับการทำไคเซ็น
จากขั้นตอนของการทำไคเซ็นในข้อแรก ขอขยายความคำว่าปฏิเสธสภาพปัจจุบันให้มากขึ้น ซึ่งมันคือการ “ลดละเลิก” สิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีประโยชน์ ไม่สำคัญ หนึ่งในวิธีการที่จะช่วยได้ก็คือการทำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วย ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันมีอยู่มากมายและเราสามารถนำมาปรับใช้ได้ เช่น IoT หรือ Internet of Thing ที่สามารถเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์ได้โดยอัตโนมัติ และส่งต่อไปยังการวิเคราะห์และประมวลผลต่าง ๆ ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเรียลไทม์ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://metrosystems-des.com/thingworx/internet-of-things-กับการทำธุรกิจในยุคด/
หากต้องการปรับปรุงแก้ไขธุรกิจและสร้างให้เกิดการพัฒนาได้จริงอย่างยั่งยืน การทำไคเซ็นก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ การให้พนักงานมีส่วนในการประเมิณธุรกิจร่วมกันก็จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานทุกคน ให้เกิด Ownership ในงาน และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ก็จะช่วยให้ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ได้
บทความโดย กาญจน์ศิริ เพ็งชัยเจริญ
Metro IoT
ติดต่อเราได้ที่
โทร 02-089-4145 (จ-ศ 8.30 – 17.00 น.)
ติดต่อได้ทุกเวลาโทร 097-158-8174
เว็บไซต์ https://metrosystems-des.com/
Facebook https://www.facebook.com/metroiot
YouTube https://www.youtube.com/channel/UC5Vu0dePMAb9DcJmvzFpmJw