ในโลกธุรกิจนั้นทุกอย่างจะเกี่ยวโยงกันเสมือนต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่การวางแผน การออกแบบ การผลิต และการขาย นอกจากจะใช้การตลาดเข้ามาช่วยบริหารให้เกิดกำไรสูงสุดอย่างยั่งยืนแล้ว การทำกลยุทธ์กับโรงงานหรือการใส่ใจในการผลิต ก็เป็นอีกส่วนที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

โดยส่วนใหญ่การวางแผนการทำงานไม่ว่าจะส่วนไหน ขั้นตอนใด ล้วนมีจุดมุ่งหมายคล้าย ๆ กัน คือ 1. ลดต้นทุน/เพิ่มกำไร 2. ลดเวลาในการทำงาน 3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน/ลดข้อผิดพลาด ซึ่ง Smart Factory หรือ โรงงานอัจฉริยะ เป็นอีกแผนในการทำงานที่นำ “เทคโนโลยี” เข้ามาช่วยให้เกิดสามสิ่งข้างต้นนี้

การจะเรียกโรงงานแห่งหนึ่งได้ว่า “Smart Factory” นั้น ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือการนำเอาเทคโนโลยีที่เรียกว่า IoT หรือ Internet of Things เข้ามามีส่วนในการทำงาน ซึ่ง IoT ก็คือการนำอินเทอร์เน็ตเข้ามาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงงาน เพื่อเก็บและส่งผ่านข้อมูลหากัน โดยมีคำกล่าวที่น่าสนใจคือ “ในปัจจุบันข้อมูลมีค่ามากกว่าน้ำมัน” เพราะข้อมูลนำมาซึ่งการวางแผนและวิเคราะห์ได้มากมาย นอกจากจะใช้เทคโนโลยี IoT แล้ว Smart Factory จะต้องมีการจัดการระบบการผลิตที่ดี สามารถคาดการณ์อนาคตได้ และนำเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ มาช่วยต่อยอด

ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใน Smart Factory เช่นการติดตัวเซนเซอร์ไว้ที่เครื่องจักร เพื่อรับข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้ามา เช่นอุณหภูมิ จำนวนชั่วโมงการทำงาน ความเสื่อมของอุปกรณ์ และข้อมูลเหล่านั้นสามารถแสดงผลเป็นกราฟ ตัวเลข หรือเป็นรูปภาพได้ ในจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน โดยที่ตัวของคนคุมเครื่องจักร อาจจะอยู่คนละจังหวัด หรืออยู่คนละที่ ไม่ต้องอยู่เฝ้าเครื่องจักรตลอดเวลา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยและช่วยลดจำนวนการจ้างคนเฝ้าเครื่อง และลดเวลาในการทำงาน สามารถมีเวลาในการทำงานอื่นเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีในการเก็บ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูล จะมีความแม่นยำ และทนทานกว่ามนุษย์อย่างแน่นอน เพราะมนุษย์มีโอกาสผิดพลาดมากกว่า และมีปัจจัยด้านความรู้สึก ความเหนื่อยล้าเข้ามาด้วย แต่เครื่องจักรไม่งอแงบ่อยเท่ามนุษย์

แนวคิด Smart Factory มีขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งและไม่ใช่แค่แนวคิดอีกต่อไป เพราะหลายโรงงานได้ทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบของ Smart Factory มากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มว่าในปี 2020 จะมีโรงงานที่เริ่มเปลี่ยนตัวเองมาเป็น Smart Factory มากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้ามที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยี IoT ในขณะเดียวกันแรงงานจำเป็นจะต้องตื่นตัวและปรับตัวให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

เขียนและเรียบเรียงโดย กาญจน์ศิริ เพ็งชัยเจริญ

ติดต่อเราได้ที่

โทร 02-089-4145 (จ-ศ 8.30 – 17.00 น.)

ติดต่อได้ทุกเวลาโทร 097-158-8174

เว็บไซต์ https://metrosystems-des.com/

Facebook https://www.facebook.com/metrothingworx/

YouTube https://www.youtube.com/channel/UC5Vu0dePMAb9DcJmvzFpmJw